แมลงศัตรูพืชกระท่อม
เมื่อปลูกพืช ไม่ว่าจะเป็นพืชชนิดไหน ก็ต่างมีปัญหาเกี่ยวกับแมลงที่เป็นศัตรูพืชทั้งนั้น รวมไปถึงพืชกระท่อมด้วย เราจะต้องรู้จักศัตรูพวกนี้ไว้ และเตรียมรับมือกับพวกมัน ไม่ให้มาทำลายต้นกระท่อมของเราได้ ในวันนี้ทาง SKY CANNABIS (Thailand) ได้รวบรวมข้อมูลสาระน่ารู้เกี่ยวกับ แมลงศัตรูพืชกระท่อม ว่ามีอะไรกันบ้าง มีลักษณะเป็นอย่างไร จะมีวิธีป้องกัน และกำจัดอย่างไร มาฝากทุก ๆ ท่านกัน จะเป็นอย่างไรบ้าง เราไปดูพร้อม ๆ ในบทความนี้กันเลย
แมลงศัตรูพืชกระท่อม มีอะไรบ้าง
แมลงศัตรูพืชกระท่อมสามารถจำแนกออกเป็นกลุ่ม ตามลักษณะการทำลาย ได้ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 : ด้วงปีกแข็ง แมลงศัตรูในกลุ่มนี้จัดเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของพืชกระท่อม เมื่อระบาดแล้วก่อให้เกิดความเสียหายเป็นประจำ เช่น แมลงนูน และด้วงกุหลาบ เป็นต้น
- กลุ่มที่ 2 : หนอนผีเสื้อ แมลงศัตรูกระท่อมในกลุ่มนี้ที่สำคัญ เช่น หนอนเจาะสมอฝ้าย และหนอนผีเสื้อกลางคืน เป็นต้น
- กลุ่มที่ 3 : แมลงปากดูด แมลงศัตรูกระท่อมในกลุ่มนี้ที่สำคัญ เช่น เพลี้ยหอย และเพลี้ยอ่อน เป็นต้น
แมลงศัตรูพืชกระท่อมอย่างที่ 1 ด้วงกุหลาบ
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
- ไข่ : ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่ตามกองซากพืช กองมูลสัตว์ ปุ๋ยหมักต่างๆ โดยวางไข่เป็นกลุ่มๆ ละ 20-50 ฟอง ไข่มีลักษณะกลมรี เปลือกเรียบ สีขาวขุ่น ระยะไข่อายุประมาณ 6-9 วัน หนอน : เมื่อฟักออกจากไข่จะกินอาหารตามหน้าดินหรือมูลสัตว์ ระยะตัวหนอนอายุประมาณ 52-95 วัน
- ดักแด้ : ตัวหนอนที่โตเต็มที่จะเข้าดักแด้ในดิน ระยะดักแด้อายุประมาณ 11-14 วัน
- ตัวเต็มวัย : ตัวเต็มวัยมีลักษณะอ้วนป้อม ค่อนข้างแบน สีน้ำตาลอ่อน ตาสีดำ มีขนสั้นละเอียดปกคลุมทั่วร่าง ลำตัวยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ระยะตัวเต็มวัยอายุประมาณ 18-28 วัน พืชอาหาร : ด้วงกุหลาบสามารถเข้าทำลายพืชได้หลายชนิด เช่น กุหลาบ ข้าวโพด มันสำปะหลัง กาแฟ กล้วย อ้อย องุ่น มะพร้าว ขนุน เงาะ ชมพู่ เป็นต้น
การป้องกันและกำจัด
- ทำลายกองหญ้าหรือมูลสัตว์ ที่เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์
- สำรวจและเก็บตัวเต็มวัยของด้วงกุหลาบที่ออกหากินในเวลากลางคืนมาทำลาย
- ใช้กับดักแสงไฟล่อตัวเต็มวัย เพื่อทำลาย
- ในช่วงที่มีการระบาดรุนแรงใช้สารกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล 85% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นช่วงเย็น ทุก 7 วัน หรือเท่าที่จำเป็น
แมลงศัตรูพืชกระท่อม อย่างที่ 2 แมลงนูนและแมลงนูนหลวง
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
เป็นแมลงปีกแข็ง จะเข้าทำลายกระท่อมในระยะที่เป็นตัวเต็มวัย
การป้องกันกำจัด
นิยมเก็บมาเป็นอาหารรับประทานได้ ซึ่งเป็นการลดจำนวนประชากรของแมลงนูนหลวงได้เป็นอย่างดี
แมลงศัตรูพืชกระท่อม อย่างที่ 3 หนอนเจาะกระทู้ผัก
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
- ไข่ : ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นกลุ่ม บนใบพืช ระยะไข่อายุประมาณ 2-3 วัน
- หนอน : ระยะหนอนมี 5 วัย ระยะหนอนจะสังเกตแถบสีดำที่ปล้องอกที่3 ได้ชัดเจน ลำตัวจะเปลี่ยนจากสีเขียวอ่อน เกิดลายเส้นหรือจุดสีดำและผิวลำตัวมีขีดดำพาดตามยาว หนอนที่เจริญเติบโตเต็มที่มีลำตัวอ้วนป้อมยาว ระยะหนอนอายุประมาณ 15-21 วัน
- ดักแด้ : ตัวหนอนที่โตเต็มที่จะเข้าดักแด้ ในดิน ระยะดักแด้อายุประมาณ 12 วัน ตัวเต็มวัย-ตัวเต็มวัยปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาลเข้มมีลวดลายเต็มปีก คู่หลังสีขาวบาง ลำตัวมีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม ตัวเต็มวัยอายุประมาณ 5-10 วัน
พืชอาหาร : พืชผัก ไม้ผล ไม้ดอก และพืชไร่หลายชนิด เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา พริก มะเขือ กระเจี๊ยบเขียว ส้มเขียวหวาน มะม่วงหิมพานต์ ถั่วเขียว ข้าวโพด ยาสูบ ฝ้าย เป็นต้น
ศัตรูธรรมชาติ : แตนเบียนหนอน แมลงวันเบียน และมวนพิฆาต
การป้องกันและกำจัด
- การใช้วิธีเขตกรรม จัดการในแปลงปลูก เช่น ไถพรวนดินตากแดด เพื่อกำจัดดักแด้ที่อยู่ในดิน ทำลายซากพืชอาหาร เพื่อลดแหล่งขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง
- การใช้ชีวภัณฑ์
- เชื้อแบคทีเรียบีที หรือ บาซิลลัส ทูริงเยนซิส 40-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร 60-100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 3-5 วัน เมื่อพบการระบาด แต่ถ้ามีการระบาดรุนแรงให้พ่นติดต่อกัน 2 ครั้ง หลังจากนั้นพ่นทุก 5 วัน จนกระทั่งหนอนลดปริมาณการระบาด
- เชื้อไวรัสเอ็นพีวี (NPV) หนอนกระทู้ผัก อัตรา 40-50มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบหนอนระบาดทุก 5-7 วัน กรณีหนอนระบาดรุนแรงพ่นอัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรติดต่อกัน 2 ครั้ง ทุก 4 วัน
หมายเหตุ : การใช้ชีวภัณฑ์ เป็นการอ้างอิงอัตราชีวภัณฑ์ในพืชตระกูลกะหล่ำ และควรพ่นเมื่อหนอนมีขนาดเล็ก มีการระบาดน้อยจะให้ผลในการควบคุมได้รวดเร็ว
- การใช้สารกำจัดแมลง เช่น คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีมาเมกตินเบนโซเอต 92% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 6 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการระบาด ไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลงประเภทใดประเภทหนึ่งติดต่อกันหลายครั้ง เพราะจะทำให้แมลงสร้างความต้านทาน และควรงดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 7 วัน
แมลงศัตรูพืชกระท่อมอย่างที่ 4 เพลี้ยหอย
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
เพลี้ยหอยมีลักษณะปากแบบเจาะดูด มีการเจริญเติบโตแบบเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละน้อย สามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศ และไม่อาศัยเพศ ไข่-เพลี้ยหอยบางชนิดจะออกลูกเป็นไข่ โดยไข่จะอยู่ในถุงหุ้มบางชนิดจะวางไข่อยู่ใต้ท้องของตัวแม่ และบางชนิดไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนในตัวแม่ ตัวอ่อน-มี 3 ระยะ ตัวอ่อนแต่ละระยะมีรูปร่าง
ลักษณะเหมือนกันแตกต่างกันที่ขนาดลำตัว
ตัวเต็มวัย มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับตัวอ่อน ต่างกันที่ตัวอ่อนมีอวัยวะบางส่วนยังไม่เจริญเต็มที่
การป้องกันและกำจัด
- วิธีเขตกรรม ตัดกิ่งหรือ ใบ ที่มีเพลี้ยหอย ทำลายทิ้ง เพื่อลดการระบาดในแมลง
- กำจัดมด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
- พ่นสารปิโตรเลียมออยล์ 9% EC อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
- การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง สามารถใช้ได้หลายกลุ่ม เช่น
- กลุ่ม 1 พิริมิฟอสเมทิล โพรไทโอฟอส มาลาไทออน ไดอะซินอน
- กลุ่ม 4 ไทอะมีทอกแซม อิมิดาโคลพริด อะเซตทามิพริด โคลไทอะนิดิน (ควรผสมไวท์ออยล์20-50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร)
- กลุ่ม 16 บูโพรเฟซีน (สำหรับกำจัดระยะตัวอ่อน)
แมลงศัตรูพืชกระท่อมอย่างที่ 5 เพลี้ยอ่อน
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
เพลี้ยอ่อนเป็นแมลงศัตรูขนาดเล็ก มีการเจริญเติบโตแบบเปลี่ยนแปลงรูปร่างทีละน้อย ขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศ และไม่อาศัยเพศ ตัวอ่อนมีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยแต่มีขนาดเล็กกว่า ตัวเต็มวัยมีรูปร่างกลม ส่วนหัวและอกมีขนาดเล็ก ส่วนท้องโต มีทั้งแบบมีปีกและไม่มีปีก
- ตัวอ่อน มีอายุประมาณ 4-6 วัน มีการลอกคราบ 4 ครั้ง
- ตัวเต็มวัย มีอายุประมาณ 5-29 วัน
- ศัตรูธรรมชาติ แมลงช้างปีกใส ด้วงเต่าลาย แมลงวันตัวห้ำ และหนอนของแมลงวันผลไม้ แมลงเบียน
การป้องกันและกำจัด
- พ่นสารปิโตรเลียมออยล์ 9% EC อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
- ส่วนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ใช้ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
- อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
- แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
- เริ่มพ่นเมื่อพบการระบาดของเพลี้ยอ่อน พ่นห่างกัน 7-10 วัน และงดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 14 วัน
แมลงศัตรูพืชกระท่อมอย่างที่ 6 หนอนผีเสื้อกลางคืนชนิดอื่น ๆ
จะเข้าทำลายใบกระท่อมโดยม้วนใบกระท่อม และกัดกินบริเวณผิวใบ แต่ความเสียหายที่เกิดจากการเข้าทำลายของหนอนผีเสื้อน้อยกว่าการทำลายของแมลงในกลุ่มด้วง เพราะชาวบ้านจะหมั่นสังเกตใบที่ต้องเก็บมาเคี้ยวเกือบทุกวัน ถ้าพบก็ทำการเก็บใบทำลาย ซึ่งเป็นการป้องกันกำจัดที่ดี กรณีเกิดการระบาดรุนแรง สามารถใช้สารเคมีชนิดเดียวกับที่ใช้ป้องกันกำจัดหนอนกระทู่ผักได้
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ท่านคงได้รู้เกี่ยวกับ แมลงศัตรูพืชกระท่อม ว่ามีอะไรกันบ้าง มีลักษณะเป็นอย่างไร พร้อมทั้งมีวิธีป้องกันและกำจัด กันไปแล้ว จากข้อมูลที่เราได้นำมาฝากกันในวันนี้ หากใครต้องการที่จะปลูกต้นกระท่อม ควรศึกษาวิธีการปลูกให้ดีด้วย เพื่อจะได้รับผลผลิตที่น่าพอใจและประสบความสำเร็จในการปลูก หากมีข้อผิดพลาดประการ ในทางแอดมิน ต้องขออภัย มา ณ ที่นี้ ด้วยค่ะ หากข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ ฝากกดไลด์ กดแชร์ กดติดตาม SKY CANNABIS (Thailand) ของเราไว้ด้วยนะคะ เพื่อจะได้ไม่พลาดข้อมูลดี ๆ ที่เราจะนำมาฝากกันในทุก ๆ วัน วันนี้ก็ของลากันไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้านะคะ
ขอบคุณที่มาข้อมูล : สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร
หากถูกใจ หรือ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ
ฝากกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตามเพจของเราด้วยนะคะ
Facebook : บ้านหนองทองจันทร์ฟาร์ม หรือ Bannongthongchan Farm
หรือ สอบถามเพิ่มเติมผ่านช่องทางติดตามอื่น ๆ
Website: skycannabisthailand.com
Tel : 064-530-2826
LINE : Monkey Rolling หรือ LINE@ : Monkey Rolling Weed