โรคพืชในกระท่อม

การปลูกพืชกระท่อมใช่ว่าจะไม่เจอปัญหา ไม่ว่าจะปลูกพืชอะไรก็สามารถเจอปัญหาเกี่ยวกับโรคพืชและศัตรูพืชได้ทั้งนั้น ในวันนี้ทาง SKY CANNABIS (Thailand)  ได้รวบรวมข้อมูลสาระน่ารู้เกี่ยวกับ โรคพืชในกระท่อม ว่ามีอะไรกันบ้าง มีลักษณะเป็นอย่างไร จะมีวิธีป้องกัน และกำจัดอย่างไร มาฝากทุก ๆ ท่านกัน จะเป็นอย่างไรบ้าง เราไปดูพร้อม ๆ ในบทความนี้กันเลย

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ โรคพืชในกระท่อม

โรคในพืชกระท่อม ที่สามารถพบเห็นได้มีอยู่ที่ 4 โรค โดยมีรายละเอียด พร้อมทั้งวิธิป้องกันและกำจัด ดังต่อไปนี้

โรคพืชในกระท่อม ที่สามารถพบเห็นได้มีอยู่ที่ 4 โรค

ลักษณะอาการโรคราสนิม

มักเกิดบนใบแก่ อาการเริ่มแรกพบ สาหร่ายเป็นจุดเล็ก ๆ สีเขียวปนเทา ขอบไม่เรียบ นูนขึ้นจากผิวใบ เล็กน้อย ในสภาพที่มีความชื้นสูงและได้รับแสงแดดเพียงพอ จุดสาหร่ายจะพัฒนาขยายขนาดขึ้น มีสีคล้ายสีสนิมหรือน้ำตาลแดง ลักษณะฟูเป็นขุยคล้ายกำมะหยี่ เกิดกระจายทั่วใบ ที่ผิวด้านล่างของใบบริเวณตรงข้ามจุดนูนจะมีสีซีด หากโรคระบาดรุนแรงใบที่มีจุดจะซีดเหลือง และแห้งตาย โรคที่เกิดบนใบไม่ทำให้ต้นกระท่อมเสียหายมาก เพียงแต่บังพื้นที่ใบที่ใช้ในการสังเคราะห์แสง ทำให้การสังเคราะห์แสงลดลง

การแพร่ระบาด

จะเกิดในพื้นที่ที่มีความชื้นสูงโดยเฉพาะฤดูฝน ส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อสาเหตุโรคสามารถปลิวไปกับลม ติดไปกับน้ำไปสู่ต้นอื่น

การรป้องกันกำจัด

  1. กำจัดวัชพืชในแปลง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี เป็นการลดความชื้นสะสม หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบเริ่มมีอาการของโรค ให้ตัดใบ หรือส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลาย หรือฝังดินนอกแปลง ไม่ทิ้งไว้ในบริเวณแปลงหรือข้างแปลง เพื่อลดปริมาณและไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุโรค
  2. หากโรคยังคงระบาดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
  3. ช่วงการตัดแต่งกิ่ง ดูแลการตัดแต่งกิ่งให้เหมาะสม ไม่ให้ต้นมีทรงพุ่มแน่นทึบ เพื่อให้กระท่อมได้รับแสงแดด และอากาศถ่ายเทได้ดี เป็นการลดความชื้น ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการระบาดของโรค หลังจากตัดแต่งกิ่งในช่วงหลังการเก็บผลผลิตแล้ว พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วต้น

โรคที่ 2 โรคราแป้ง

ลักษณะอาการโรคราแป้ง

โรคราแป้ง (powdery mildew) จะพบอาการได้ที่ ใบด้านล่างก่อนแล้วจึงลามขึ้นสู่ใบด้านบนโดยเชื้อรา สังเกตเห็นได้ว่าที่ผิวใบจะมีเส้นใยของเชื้อราสีขาวคล้ายแป้ง ปกคลุมมาที่หลังใบ แล้วใบจะเริ่มแห้ง ซึ่งอาการใบแห้งจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้ใบแห้งตายในที่สุด โรคราแป้งเกิดได้ง่ายในช่วงอากาศเปลี่ยนจากหน้าฝนกลับกลายเป็นช่วงหน้าหนาว หรืออุณหภูมิของอากาศนั้นเย็นลง มีหมอก เกิดขึ้นตอนเช้าๆ หรือยังคงมีหมอกและมีความชื้นมาก

การแพร่ระบาด

สปอร์ของเชื้อราปลิวไปกับลมในช่วงที่มีอากาศแห้งแล้งและเย็น พบได้ทั่วไปในแหล่งปลูกกระท่อม แต่ไม่พบการระบาดมากนัก นอกจากในแปลงกระท่อมที่อยู่ใกล้สวนยางพารา หรือใกล้ป่าไม้ ซึ่งมีสภาพความชื้นสูง พบมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

การป้องกันกำจัด

  1. ในช่วงแตกใบอ่อน ควรฉีดพ่นสารกํามะถันผงละลายน้ำ 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นการกําจัดปริมาณเชื้อโรคทำให้การระบาดในช่วงแตกใบอ่อนลดความรุนแรงได้ แต่การฉีดพ่นด้วยกำมะถันผงในอัตราที่สูงในสภาพที่มีอากาศร้อนอาจทำให้ผิวใบไหม้
  2. เก็บใบที่แสดงอาการโรคราแป้ง อาการใบแห้ง กิ่งที่ร่วงหล่น มาเผาทำลาย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
  3. หากพบว่า เริ่มมีการระบาดของโรค พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช โพรคลอราซ 45% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์เบนดาซิม 50% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไพราโซฟอส 4% W/V EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

โรคพืชในต้นกระท่อม

โรคที่ 3 โรคราดำ

ลักษณะอาการ

โรคราดำ จะพบอาการคราบราสีดำติดตามส่วนของใบ กิ่ง ในบางครั้งพบที่ผล โดยเชื้อราสามารถเจริญได้จากสารเหนียวที่แมลงปากดูดปลดปล่อยมา เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย  การเกิดโรคที่ใบไม่ทำให้ใบเสียหายมาก เพียงแต่บดบังพื้นที่ใบที่ใช้ในการสังเคราะห์แสง ทำให้การสังเคราะห์แสงลดลง แต่ในระยะต้นกล้า หรือต้นที่เจริญเติบโตยังไม่เต็มที่จะทำให้การเจริญโตช้า หรือชะงักการเจริญเติบโตไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

การแพร่ระบาด

โรคราดำมักพบในช่วงที่มีการระบาดของแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย และเพลี้ยไก่แจ้ เป็นโรคที่พบได้ในแหล่งปลูกกระท่อมที่มีความชื้นสูง ต้นกระท่อมมีทรงพุ่มแน่นทึบ

การป้องกันกำจัด

  1. กำจัดวัชพืชในแปลง เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก เป็นการลดความชื้นสะสม
  2. หมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบคราบราสีดำ พ่นด้วยน้ำเปล่าล้างคราบราสีดำและสารเหนียวที่แมลงปากดูดขับถ่ายไว้ เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค
  3. เนื่องจากเชื้อราเจริญบนสารเหนียวที่แมลงปากดูดปลดปล่อยมา เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย และเพลี้ยไก่แจ้ขับถ่ายไว้ จึงควรป้องกันกำจัดแมลง ดังนี้
    • เมื่อพบการระบาดของเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย หรือเพลี้ยไก่แจ้พ่นด้วยสารฆ่าแมลง ได้แก่ สารคลอร์ไพริฟอส 40% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพริฟอส /ไซเพอร์เมทริน 50% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นสารเฉพาะต้นที่พบเพลี้ยแป้งหรือเพลี้ยหอยเข้าทำลาย
    • เนื่องจากเพลี้ยแป้งแพร่ระบาดโดยการอาศัยมดพาไป จึงควรป้องกันมด โดยใช้ผ้าชุบสารฆ่าแมลง เช่น มาลาไทออน 83% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85% WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พันไว้ที่กิ่งของกระท่อม หรือพ่นสารฆ่าแมลงดังกล่าวที่โคนต้น

โรคที่ 4 โรคอาการลำต้นแตกและโคนเน่า

ลักษณะอาการ

อาการเกิดที่กิ่ง ลำต้น และโคนต้น จะเห็นเป็นปุ่มนูนขึ้นมาที่ลำต้น และกิ่ง ส่วนใหญ่จะพบตรงรอยต่อของกิ่ง และโคนต้น จะมีอาการเปลือกแตกคล้ายระเบิดออกมา เนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีน้ำตาล ถ้าอาการรุนแรงแผลจะขยายใหญ่ลุกลามจนรอบโคนต้นต้นกระท่อมที่ถูกทำลายมักพบรูพรุนตามโคนต้นและกิ่ง สันนิษฐานว่าเป็นการเข้าทำลายของมอด และมอดจะนำเชื้อราสาเหตุของโรครากเน่าโคนเน่าแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของต้นกระท่อม หากอาการเกิดที่รากจะพบอาการเน่ามีลักษณะเปลือกล่อน และเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาล เมื่อโรครุนแรงอาการเน่าจะลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นกระท่อมโทรมและยืนต้นตาย

การแพร่ระบาด

จากการนำส่วนของพืชที่ถูกโรคทำลายมาเพาะเลี้ยงเชื้อพบว่ามีเชื้อราไฟทอปเทอร์รา (Phytophthora spp.) เชื้อนี้จะแพร่กระจายในอากาศโดยลม ไปตามน้ำและฝน เนื่องจากเชื้อราสร้างสปอร์ที่สามารถเคลื่อนที่ไปตามน้ำได้ และสร้างสปอร์ที่สามารถพักตัวอยู่ในดินได้เป็นเวลานาน เมื่อมีสภาวะแวดล้อมเหมาะสมก็สามารถงอกเส้นใยเข้าทำลายพืชได้ สภาวะเหมาะสมที่เชื้อราแพร่ระบาดได้ดีในช่วงที่มีฝนตกชุก และความชื้นสูง

การป้องกันกำจัดโรค

  1. ใช้วิธีเขตกรรมที่เหมาะสม เช่น การรักษาความสะอาด สุขอนามัยพืช ปลูกมีการระบายน้ำได้ดี เช่น ทำร่องระบายน้ำในบริเวณที่เป็นพื้นที่ต่ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง หากเกิดน้ำท่วมขังต้องรีบระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด ใช้วิธีเขตกรรมที่เหมาะสม เช่น การรักษาความสะอาด สุขอนามัยพืช ใช้ต้นกล้าปลอดโรค และปรับให้พื้นที่ปลูกมีการระบายน้ำได้ดี เช่น ทำร่องระบายน้ำในบริเวณที่เป็นพื้นที่ต่ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง หากเกิดน้ำท่วมขังต้องรีบระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด
  2. ตัดแต่งทำลายกิ่งที่เป็นโรคและตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อให้เกิดการถ่ายเทอากาศและแสงแดดส่องถึง หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคพืชเข้าทำลายได้ง่าย
  3. ต้นกระท่อมที่เป็นโรครุนแรงมาก หรือยืนต้นแห้งตาย ต้องขุดออก แล้วนำไปทำลายนอกแปลงปลูก ตากดินไว้ระยะหนึ่ง แล้วจึงปลูกพืชทดแทน
  4. ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นกระท่อมที่เป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ ควรทำความสะอาดเครื่องมือโดยจุ่มด้วยคลอร็อกซ์ 10% หรือแอลกอฮอล์ 70% นานประมาณ 5-10 นาที ก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง
  5. หมั่นสำรวจสวนเป็นประจำ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี อย่างสมดุลเพื่อบำรุงพืชให้สมบูรณ์แข็งแรง เสริมสร้างความสมบูรณ์ของต้น โดยการใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 หรือ 15-15-15 แต่หากพบว่าต้นมีความสมบูรณ์มากเกินไป ควรเปลี่ยนเป็นปุ๋ยที่มีไนโตรเจนต่ำเช่น 8- 24-24, 9-24-24 หรือ 13-13-21 เพื่อให้ต้นมีความแข็งแรง ไม่อ่อนแอต่อโรค และพ่นด้วยปุ๋ยทางใบที่มีธาตุรองหรือจุลธาตุอย่างน้อย 1-2 ครั้ง เพื่อให้เกิดสมดุลของธาตุอาหารและทำให้ต้นแข็งแรงมีความต้านทานต่อโรค
  6. หลีกเลี่ยงไม่ปลูกพืชที่อาจเป็นพืชอาศัยของเชื้อราสาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าในบริเวณแปลงกระท่อม
  7. การลดปริมาณเชื้อราสาเหตุของโรคลำต้นเน่า มีวิธีปฏิบัติดังนี้
    • ตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เก็บชิ้นส่วนของใบ เปลือก หรือผลเน่าที่ร่วงหล่นบริเวณโคนต้นที่เป็นโรคออกนอกแปลง โดยการใส่ถุงพลาสติกนำออกตากแดดแล้วทำลายในภายหลัง ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ในสวนอย่างเด็ดขาด เพื่อลดปริมาณเชื้อราที่อาศัยนอกฤดูที่อาจเป็นแหล่งกำเนิดของโรคในฤดูต่อไปได้
    • ตรวจวิเคราะห์ดินหาความเป็นกรด-ด่าง (pH) แล้วปรับให้อยู่ในค่าที่เหมาะสมต่อการปลูกกระท่อม คือ 5-6.5 โดยการหว่านด้วยปูนขาว หรือปูนโดโลไมท์หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ความเป็นกรด-ด่าง ของดินที่พบโรคมักมีค่าประมาณ 4-4.5 ซึ่งดินที่มีความเป็นกรดในระดับดังกล่าว พืชจะไม่สามารถใช้ดูดหรือใช้อาหารได้ อีกทั้งเหมาะต่อการเจริญของเชื้อราไฟทอปเทอร์รา
  8. หากพบอาการโรคลุกลามมาก ให้ถากบริเวณที่เน่าเสียออกบาง ๆ เก็บรวบรวมส่วนต่าง ๆ ของลำต้นที่เป็น โรคที่ถากออกไปทำลายนอกแปลง การถากเอาส่วนที่เป็นโรคออกหลังจากขูดหรือถากต้น และทาด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชประเภทดูดซึมที่มีประสิทธิภาพเฉพาะกับเชื้อรา เช่น เมทาแลกซิล 25% WPอัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 35% SD อัตรา 45 กรัมต่อ น้ำ 1 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 80-150 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร เป็นต้น หลังจากทาสารป้องกันกำจัดโรคพืชแล้ว จากนั้นประมาณ 15-20 วัน ควรตรวจดูแผลที่ทาไว้ หากยังมีลักษณะฉ่ำน้ำ ควรทาซ้ำอีก 3-4 ครั้ง หรือจนกว่าแผลจะแห้ง

แนวทางการป้องกันกำจัดโรคโดยการใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมโรคพืช

แนวทางการป้องกันกำจัดโรค ข้อที่ 1

ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือเศษซากพืชคลุมดิน เพื่อส่งเสริมให้จุลินทรีย์ที่มีอยู่หลายชนิดในดินเพิ่มปริมาณ ซึ่งจะทำให้เกิดการแก่งแย่งกับจุลินทรีย์สาเหตุโรคพืช การใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ลงในดินโดยตรง

เช่น เชื้อไตรโคเดอร์มาชนิดสดที่ทำการขยายเชื้อโดยใช้ข้าวสุก โดยใช้เชื้อสดจำนวน 1 กิโลกรัม ผสมกับรำข้าว 5 กิโลกรัม ปุ๋ยหมัก 40 กิโลกรัม ผสมให้เข้ากันและนำไปโรยบนดินบริเวณใต้ทรงพุ่มของพืชตรงบริเวณที่มีรากฝอยขึ้นอยู่ ต้นกระท่อมที่มีอายุ 1-5 ปี ใช้อัตรา 2-3 กิโลกรัมต่อต้น

ส่วนต้นที่มีอายุมากกว่า 5 ปี ขึ้นไป ให้ใช้อัตรา 5 กิโลกรัมต่อต้น หรือสามารถรองก้นหลุมก่อนปลูกพืช ในอัตรา 50-100 กรัมต่อตารางเมตร แล้วใช้เศษซากพืชกลบทับ ปีละ 1-2 ครั้ง จะให้ผลดียิ่งขึ้นในการช่วยลดปริมาณเชื้อโรคที่อยู่บนดิน รวมทั้งกิ่ง และลำต้น

แนวทางการป้องกันกำจัดโรค ข้อที่ 2

การใช้ชีวภัณฑ์น้ำเลี้ยงเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี เป็นการประยุกต์จากการใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าที่ใช้ในกับทุเรียน โดยทำการถากเปลือกออกบาง ๆ ก่อน จากนั้นนำน้ำเลี้ยงเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีผสมกับฝุ่นทาที่แผลเน่า และควรตรวจดูแผลที่ทาไว้หากยังมีลักษณะฉ่ำน้ำควรทาซ้ำอีก 3-4 ครั้ง หรือจนกว่าแผลจะแห้ง แม้การใช้เชื้อจุลินทรีย์จะไม่สามารถรักษาให้ต้นกระท่อมหายจากโรคได้รวดเร็วเหมือนการใช้สารเคมี แต่ได้ประโยชน์ในแง่ของการรักษาสภาพแวดล้อมและสมดุลของธรรมชาติ และลดปริมาณสารเคมีที่อาจปนเปื้อนไปกับผลผลิตได้ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวนี้จำเป็นที่ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ท่านคงได้รู้เกี่ยวกับ โรคพืชในกระท่อม ว่ามีอะไรกันบ้าง มีลักษณะเป็นอย่างไร จะมีวิธีป้องกัน กันไปแล้ว จากข้อมูลที่เราได้นำมาฝากกันในวันนี้ หากใครต้องการที่จะปลูกต้นกระท่อม ควรศึกษาวิธีการปลูกให้ดีด้วย เพื่อจะได้รับผลผลิตที่น่าพอใจและประสบความสำเร็จในการปลูก หากมีข้อผิดพลาดประการ ในทางแอดมิน ต้องขออภัย มา ณ ที่นี้ ด้วยค่ะ หากข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ ฝากกดไลด์ กดแชร์ กดติดตาม SKY CANNABIS (Thailand) ของเราไว้ด้วยนะคะ เพื่อจะได้ไม่พลาดข้อมูลดี ๆ ที่เราจะนำมาฝากกันในทุก ๆ วัน วันนี้ก็ของลากันไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้านะคะ

ขอบคุณที่มาข้อมูล : สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร และชุมชนชัยบุรี , เพจ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร


หากถูกใจ หรือ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ

ฝากกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตามเพจของเราด้วยนะคะ

Facebook : บ้านหนองทองจันทร์ฟาร์ม หรือ Bannongthongchan Farm

หรือ สอบถามเพิ่มเติมผ่านช่องทางติดตามอื่น ๆ

Website: skycannabisthailand.com

Tel : 064-530-2826 

LINE : Monkey Rolling หรือ LINE@ : Monkey Rolling Weed